รัฐประหาร พาเศรษฐกิจทรุด !!

Sent
ผลพวงจากการรัฐประหารในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้นมากมาย  แต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงกันมากนัก  เพราะรัฐบาลเผด็จการไม่ต้องการให้สื่อเสนอข่าวด้านลบของตนเอง  แต่อย่างไรก็ตามความจริงก็ค่อย ๆ ปรากฎชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ผลกระทบจากการที่ไทยถูกตัดสิทธิ  GSP  โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง ที่เป็นสินค้าทำรายได้ให้ประเทศ  เพราะยุโรป ถือเป็นตลาดหลักที่ต้องรักษาฐานเดิมไว้  ขณะที่สัดส่วนการส่งออกยังค่อนข้างสูง 

     ผลกระทบในอุตสาหกรรมกุ้งไทย  ไม่จำกัดอยู่เฉพาะการถูกสหภาพยุโรป หรือ อียู  ยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP แต่ยังมีปัจจัยลบจากอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นหลัง GSP หมดไป ทำให้ต้นทุนการขายสินค้าสูงขึ้นโดยปริยาย  นี่ยังไม่รวมผลกระทบเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว ซึ่งมีผลโดยตรงต่อกำลังซื้อ  

     สินค้ากุ้งแปรรูป  เช่น กุ้งต้ม , กุ้งชุบแป้ง ถูกตัด GSP ไปก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ภาษีเพิ่มจากเดิมร้อยละ 7  เป็นร้อยละ 20 ผนวกกับโรคกุ้งตายด่วน ผู้ประกอบการต้องขาดทุนเรื่อยมา จนเป็นปัญหาสะสมมานาน   ในขณะที่ กุ้งแช่แข็ง ต้องเสียภาษีเป็นร้อยละ 12  ดันต้นทุนสูงขึ้นร้อยละ 6 กระทบความสามารถการแข่งขันทันที  /ปีนี้ ตลาดกุ้งไทยคงไม่สดใส จากที่เคยส่งไปขายในอียูกว่า 65,000 ตัน อาจทำได้แค่  2 หมื่นตันเท่านั้น   



     ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ไทย-อียู  เป็นทางออกที่ผู้ประกอบการคาดหวังให้รัฐบาลเร่งผลักดัน เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษจากภาษี  รวมถึงการเจาะผู้บริโภคกลุ่มใหม่มาทดแทนตลาดที่หายไป   แต่แน่นอนว่า EU จะไม่มีการตกลงทางการค้าใด ๆ กับรัฐบาลเผด็จการ 

     สำหรับสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรป  ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดถึงร้อยละ 9.2  การตัด GSP ครั้งนี้ กระทบสินค้าไทยถึง 6,200 รายการ  กระทบมากสุด คือ กลุ่มยางนอกรถยนต์และยานยนต์ , ถุงมือยาง , เลนส์แว่นตา  และเครื่องปรับอากาศ  ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น จากก่อนหน้าได้รับการยกเว้น หรือภาษีเป็นศูนย์      

     เม็ดเงินภาษีเหล่านี้ เป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายรวมกว่า 250 ล้านดอลลาร์ฯ หรือกว่า 8,100  ล้านบาท  เมื่อสินค้าจากไทยแพง ทำให้ยุโรปหันไปซื้อสินค้าจากตลาดอื่นที่ราคาถูกกว่าแทน  จะกระทบมูลค่าการส่งออกปีนี้ให้หายไป  848  ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท    
    
     ความหวังการส่งออกกุ้งไทย อยู่ที่ตลาดอาเซียนทั้งอาเซียนเก่าและใหม่  รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะสดใส ส่งผลให้กำลังซื้อประเทศคู่ค้ากลับคืนมา  ช่วยผลักดันการส่งออกเติบโตต่อไปได้  แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในขณะที่ต้นทุนเราสูงขึ้นเพราะ GSP แต่คู่แข่งอย่าง เวียดนาม ลาว กัมพูชา กลับมีต้นทุนที่ถูกกว่า  ทำให้เป็นข้อได้เปรียบ  งานนี้อยู่ที่ว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวอย่างไร  และทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจะมีกึ๋นแค่ไหน

by EconoMan