เศรษฐา เร่งเดินเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ

Sent
0

 


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย  ได้เริ่มทำงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่  โดยใช้ทรัพยากรที่มีและกระทบกับงบประมาณน้อยมาก  โดยเริ่มจากภาคการท่องเที่ยว ที่ได้ลงไปพื้นที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566  เพื่อประชุมร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน จ.ภูเก็ต ถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต  เพื่อดึงเม็ดเงินการภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่ในช่วงก่อนเกิดโควิด(พ.ศ.2562) เคยสร้างรายได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 18% ของ GDP แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 ใน 3 และนักท่องเที่ยวไทย 1 ใน 3 รวมถึงสร้างการจ้างงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 20% ของการจ้างงานทั้งหมดในปี 2562

     จึงได้มาเป็นแนวนโยบายท่องเที่ยวอาทิ  ปรับปรุงการให้บริการของสนามบิน  การฟรี visa (สามารถเข้าไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า และเสียเงินค่าธรรมเนียม) ที่จะเริ่มเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็น High Season ที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา จีน และประเทศเมืองหนาวอื่น ๆ จะเข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนมาก   จะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น อยู่นานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น  ไม่ใช่แค่ภูเก็ต แต่หมายรวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ  เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาศสุดท้ายของปี

     อีกด้านหนึ่งก็จะมีการลดรายจ่ายให้กับประชาชนทันที ด้วยการลดราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงและทำให้แต่ละครัวเรือนมีภาระแต่ละวันที่มากขึ้น   น่าจะมีผลหลังจากการประชุม ครม. นัดแรกกลางเดือนกันยายนนี้

     อีกมาตรการที่เห็นชัดเจนคือการพักชำระหนี้เกษตรกร  โดยได้เข้าหารือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ หรือ ธกส. เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้สินเกษตรกร และแนวทางที่จะช่วยเหลือ เช่น โครงการพักชำระหนี้ , โครงการปรับปรุงระบบการจูงใจเกษตรกรในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ฯลฯ   โดยเป็นมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ที่มีหนี้สินล้นเกินกำลัง ได้มีโอกาสสู้ต่อ พร้อมทั้งปรับปรุงเรื่องวินัยของลูกหนี้ และให้คำปรึกษาด้านกานเงินควบคู่ไปด้วย  ทั้งนี้ยังได้รวมถึงภาระหนี้สินของข้าราชการระดับ TOP 3 ที่มีปัญหามากที่สุด คือ ครู ตำรวจ ทหาร  ซึ่งจะต้องดูแลช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

     อีกเรื่องที่เห็นการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนคือ การแก้ปัญหาการประมง ที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ยุค คสช. ที่ทำให้พี่น้องชาวประมงสิ้นเนื้อประดาตัว ขายเรือ ขายเครื่องมือกันไปหลายราย โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ  ได้เดินทางไปยังท่าเทียบเรือ โรงน้ำแข็งศิริไพโรจน์ จ.สมุทรสงคราม เพื่อพบปะพูดคุยสอบถามถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของ IUU  (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing  หรือการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม  อันเป็นนิยามที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ บัญญัติขึ้น) และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง  ซึ่งในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศ IUU ประเทศไทยส่งออกสุทธิปีละ 350,000 ล้านบาท ปัจจุบันกลายเป็นนำเข้าสุทธิ 150,000 ล้านบาท  ผ่านมาหลายปี มูลค่าความเสียหายนับล้านล้านบาท

     ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีนายกรัฐมนตรี จากภาคธุรกิจที่ทำงานโดยการมองไปข้างหน้า  รุกเข้าแก้ไขปัญหาทันที  ไม่ใช่นายกที่มาจากข้าราชการ หรือนักธุรกิจที่ล้มเหลวดีแต่พูด  ที่จะรอเวลาให้เกิดปัญหาก่อน ค่อยเข้าไปดำเนินการ ซึ่งมันก็ช้าและไม่ทันกับความเสียหาย   หวังใจว่าจะคุม รมต.พรรมร่วม ที่แต่ละคนไม่น่าไว้ใจเท่าไหร่ ได้อย่างดีและขับเคลื่อนสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน  นั่นคือปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ  

     นี่ยังไม่นับรวมนโยบายที่จะนำมาใช้ปีหน้า เช่น เงินดิจิตอล 10,000 บาท , ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ  ซึ่งน่าจะส่งผลการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้เป็นอย่างดี  หุ้นในกลุ่มที่น่าสนใจก็เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มจำนำทะเบียน สินเชื่อต่าง ๆ  กลุ่มการท่องเที่ยว  โรงแรม  สนามบิน  การบิน  ส่วนกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบก็เช่น กลุ่มพลังงาน เป็นต้น   

     ประเทศไทยตอนนี้กลับมาอยูในโฟกัสของนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้นแล้ว  เมื่อได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ  ทหารกลับเข้ากรมกอง(ซะที) มีความชัดเจนในนโยบาย  การลงทุนต่าง ๆ จะตามมาอีกมาก  เช่น รถไฟฟ้าที่มาแล้วหลายยี่ห้อ และจะต่อคิวมาอีกเพียบ โดยไทยจะเป็นศูนย์การผลิตรถไฟฟ้าพวงมาลัยขวา  รวมถึงการลงทุนอื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ , ดาต้าเซนเตอร์ ฯลฯ    ประเทศไทยมีความหวังแล้วครับ  ไม่ต้องย้ายประเทศหนีแล้ว

บทความโดย .... Ecoman

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)