วิกฤติภัยแล้ง ห้ามทำนา เดี๋ยวประปาขาดน้ำ

Sent
0
วิกฤติภัยแล้งในปี 58 นี้ ไม่ธรรมดา  เพราะนอกจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั่วประเทศจะมีปริมาณน้อยมาก ๆ แล้ว  น้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศก็แทบจะหมด แม่น้ำบางสายแห้งจนสามารถเดินข้ามกันได้เลยทีเดียว  ด้านรัฐบาลสั่งห้ามทำนาต่อเนื่องมาตั้งแต่นาปรัง  จนถึงนาปี

     ไม่ปฏิเสธครับ ว่าข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำมากจริง ๆ  ถ้าปล่อยให้ทำนาตามปกติ ปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่พอทำนาแน่ ๆ จะเกิดการแย่งน้ำกัน และกระทบถึงน้ำประปาที่คนเมืองพึ่งพิงอยู่ในชีวิตประจำวัน  แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดแก้ไขมีหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ

     ประเด็นค่าชดเชย หรืออาชีพทดแทน  คำกล่าวที่ว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็นคำพูดที่เอาไว้หลอกชาวนามานานปี เพราะถึงคราวเข้าจริง ๆ "คนดี" ไม่ได้เห็นใจชาวนา หรือให้ความสำคัญแต่อย่างใด  ตั้งแต่เรื่องคัดค้านจำนำข้าวสารพัดวิธี ปิดล้อมธนาคาร กดดันไม่ให้กู้เงินมาจ่ายชาวนา ตัดไฟการประมูลข้าว  พอน้ำแล้งก็บอกไม่ให้ทำนา  ดังนั้น ต้องมีทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรที่สามารถทำได้ไม่ยากนัก  เหมือนอยู่ ๆ รัฐบาลมาบอกให้คุณเลิกทำงาน งดรับเงินเดือน  คุณจะดำเนินชีวิตอย่างไร ?  หรือจะจ่ายเงินชดเชย ก็ต้องมีความชัดเจน และทันท่วงที  ไม่ใช่ให้รอไปเรื่อย ๆ โดยไร้จุดหมาย

     ประเด็นความพร้อมในการรับมือของรัฐบาล  จะเห็นได้ว่าสัญญาณแล้งมันมีมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว  ซึ่งรัฐบาลเผด็จการทหารชุดนี้ยึดอำนาจมาตั้งแต่ 22 พ.ค. 57  อย่าได้ไปโทษรัฐบาลก่อนหน้า  เพราะงบปี 58 อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลพลเอกประยุทธฯ   ดูแล้วไม่ได้มีการประเมินกันล่วงหน้า ทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์สไตล์รัฐข้าราชการ  นี่ก็เพิ่งผุดงบประมาณห้าหมื่นล้าน เพื่อเจาะบ่อบาดาล  มันจะทันมั๊ย  ไหนว่าบริหารประเทศไม่เห็นจะยาก



     ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ในขณะที่คนจนกลุ่มหนึ่งถูกห้ามใช้น้ำ  เพื่อจะมีน้ำเพียงพอสำหรับปรนเปรอคนอีกกลุ่มหนึ่ง   บอกให้คนจนกลุ่มหนึ่งหาที่กักเก็บน้ำเอง อย่ารอพึ่งรัฐ  แต่คนอีกกลุ่มไม่ต้องทำเช่นนั้น  อีกหน่อยถ้าอากาศไม่พอหายใจ  คุณว่าคนกลุ่มไหนจะถูกสั่งห้ามหายใจล่ะ

     คนเมืองที่เปิดก็อกน้ำ ก็มีน้ำสะอาดไหลแรงให้คุณได้ใช้ ก็ตระหนักถึงความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ชนบทต้นน้ำ เขาต้องเสียสละให้คุณขนาดไหน  ใช้น้ำกันอย่างประหยัดด้วยนะครับ

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)