แก้ปัญหาคราบในกระติกน้ำร้อน และการใช้งานที่ถูกต้อง

Sent
0
กระติกน้ำร้อน ถือเป็นอุปกรณ์สามัญประจำบ้าน และสำนักงาน ไปแล้ว  เรียกว่ามันสามารถใช้ชงเครื่องดื่มร้อน ๆ อย่าง ชา กาแฟ  หรือเติมในชามบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  แก้หิวประทังชีวิตไปได้  แต่เมื่อใช้ไปสักพักหนึ่งมันจะเกิดตะกอนเป็นคราบติดด้านในหม้อต้ม หรือที่เรียกว่า "ตะกรัน" นั่นเอง   แม้มันจะไม่ทำอันตรายกับเรา  แต่มันอาจหลุดไปในเครื่องดื่มของท่านได้ ซึ่งคงไม่ดีแน่ครับ

     การขจัดคราบหินปูน หรือ ตะกรัน ในกระติกน้ำร้อนนั้น  สามารถทำได้เองง่าย ๆ ครับ  แต่ไม่ใช่การเอามีด หรือวัสดุใด ๆ ไปแคะ ขูด ออกนะครับ   เพราะมันจะทำให้หม้อต้มเสียหายได้   ในกรณีนี้เราต้องใช้ น้ำส้มสายชู ครับ  โดยเทผสมลงไปในกระติกน้ำร้อนเรานี่แหละ  ถ้ามีคราบไม่มาก บาง ๆ ก็ใช้สัก 1/4 แก้ว ก็พอ  หากมีคราบตะกรันหนามาก ก็ต้องเพิ่มอัตราส่วนไปอีก   เมื่อเติมน้ำส้มสายชูแล้ว ก็เสียบปลั๊กต้มให้เดือด  จะเห็นได้ว่าคราบจะละลายหลุดออก หรือบางลง    หากยังไม่หมดก็ทิ้งให้เย็นแล้วต้มใหม่อีกครั้ง  หรือเทน้ำต้มทีแรกออกแล้วผสมใหม่ก็ได้  

     เมื่อขจัดคราบตะกรัน ได้หมดแล้วก็เทน้ำต้มทิ้งไป  ล้างหม้อต้มด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด  แล้วก็กลับมาใช้ได้ตามปกติ  คอยหมั่นสังเกตุดู หากเริ่มมีคราบก็ใช้วิธีนี้แหละครับ  อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ จนเกิดคราบหนา(เหมือนผม) มันจะเอาออกยากจ้า  

     เท่านี้กระติกน้ำร้อน ก็จะสะอาดเหมือนใหม่ ให้เราใช้ได้นาน ๆ  ที่สำคัญ ถ้าไม่ใช้ก็ถอดปลั๊กดีกว่าครับ  มันกินไฟเอาเรื่องเหมือนกัน  กระติกน้ำร้อนขนาด 2.5 ลิตร 600 วัตต์ ถ้าเสียบปลั๊กทิ้งไว้วันละ 10 ชั่วโมง จะเสียค่าไฟประมาณเดือนละ 90 บาท  หากใช้ชงกาแฟแค่ 2 - 3 แก้ว ก็ใส่น้ำแค่ครึ่งเดียว  จะได้ไม่ต้องเปลืองพลังงานในการต้มน้ำปริมาณมาก  ก็ประหยัดไปได้อีกนะ  




     ถ้าเป็นที่สำนักงาน  ก่อนเลิกงานก็อย่าลืมถอดปลั๊กนะครับ  ไม่ใช่เปิดใช้งานกันข้ามคืนทั้ง ๆ ที่ไม่มีคน  จะให้ดีก็ถอดก่อนเลิกงานสักครึ่งชั่วโมงก็ได้   หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์กับทุกท่านบ้างนะครับ  หากชอบก็แชร์ให้เพื่อน ๆ ทราบ จะได้ช่วยชาติประหยัดพลังงาน  วันนี้ลาไปก่อน  พบกันใหม่ในบทความถัดไปครับ

     อ้อ ! ... ลืมบอกไป  น้ำสมสายชูที่ใช้ ก็ใช้แบบสำหรับประกอบอาหาร ธรรมดา ๆ นี่แหละครับ  เลือกที่มันราคาถูกสุดไปเลย  หรือไปดูในครัวก่อน  ถ้ายังมีก็ใช้ของเก่าในครัวเรานี่แหละ  ไม่ต้องไปซื้อใหม่ครับ ^^


บทความโดย EcoMan

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)