รถไฟไทย มรดกโลก ?

Sent
0
เชื่อว่ามีหลายคนได้เห็นภาพรถไฟไทยจอดเทียบกับรถไฟมาเลเซีย ที่สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จากสื่อโซเชี่ยลมีเดียต่าง ๆ  จนเกิดกระแสวิจารณ์ถึงความด้อยพัฒนาของการรถไฟของประเทศไทย  เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน  ทั้ง ๆ ที่ รถไฟไทย นั้นเริ่มพัฒนาก่อนใครในภูมิภาคนี้

     ภาพที่ปรากฎนั้น รถไฟไทยเป็นรถไฟที่ลากจูงด้วยระบบหัวรถจักรเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งใช้กันมานานหลายสิบปีแล้ว  มีความเร็วสูงสุดที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  แต่ในความเป็นจริงแล้วจะวิ่งเฉลี่ยไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  

     ส่วนรถไฟมาเลเซียตามรูปนั้นเป็นรถไฟระบบไฟฟ้า ที่มีความเร็วเฉลี่ย 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  โดยรถไฟทั้งสองประเทศนั้นวิ่งบนรางขนาด 1 เมตรเท่ากัน  ด้วยสภาพที่ใหม่กว่าเห็น ๆ ทั้งตัวหัวรถจักรไฟฟ้า และตู้โดยสาร   ทำให้รถไฟของมาเลเซียนั้นน่านั่งกว่ามาก  ชนชั้นกลางที่อาจเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวบ่อย ๆ ก็อาจเปลี่ยนมานั่งรถไฟกันมากขึ้น  เพราะปลอดภัยและสะดวกสบาย  จะช่วยประหยัดน้ำมันและมลพิษของประเทศไปได้มากทีเดียว

     เคยมีความพยายามพัฒนาการรถไฟไทย ที่ง่ายที่สุดคือ รถไฟรางคู่ ที่ดำริจะสร้างกันมานับสิบ ๆ ปี  แต่ก็ไม่ได้ทำเสียที  เพราะการเมืองไม่มีเสถียรภาพ  เปลี่ยนรัฐบาลบ่อย  ถ้าสร้างได้แล้วนั้นจะร่นระยะเวลาในการเดินทางได้นับชั่วโมงเลยทีเดียว  ยิ่งสายยาว ๆ ที่ต้องหยุดรอกันบ่อย ๆ นั้น   ถือว่าแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด 



     ส่วนการพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูงนั้นก็เกือบจะได้ทำ  แต่สุดท้ายแล้วคงต้องให้ถนนลูกรังหมดไปเสียก่อน  ตามที่ศาลรัฐนูญได้กล่าวไว้(เมื่อไหร่จะได้สร้าง ?)   แม้รัฐบาลทหารชุดนี้ก็พยายามจะนำโครงการรถไฟความเร็วสูงมาดำเนินการ  แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าแต่ประการใด  แล้วคำถามที่เคยมีว่า จะใช้เงินจากไหน , ความคุ้มค่า , ต้องเป็นหนี้กี่ชั่วอายุคน   คำถามเหล่านี้ไม่รู้ว่ายังคงอยู่หรือไม่  แล้วตกลงเราจะได้พัฒนารถไฟไทยกันเมื่อใด



     ที่แน่ ๆ รถไฟเรามีสิ่งที่เหนือกว่ามาเลย์เซียหลายอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อขายอาหารที่มีมากมายทั้งเดินขึ้นมาขายบนรถ หรือขายข้างหน้าต่าง ทั้งไก่ย่าง ข้าวเหนียว  ถั่วต้ม ฝักบัว ฯลฯ เอ ... หรือจะเก็บความวินเทจ ไว้เป็นมรดกโลกดี



แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)