ปัญหาสิ่งแวดล้อมนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้คนทั้งโลก สิ่งต่าง ๆ ที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ นั้น ล้วนเป็นฝีมือของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่เรียกตัวเองว่า มนุษย์ ที่ได้ทำการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ก่อสร้างสิ่งน่าอัศจรรย์ต่าง ๆ มากมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นสุดยอดผู้ทำลายล้างอันดับ 1 ของโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน
ผลกระทบที่ตามมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เช่น ปรากฎการณ์ผันผวนของสภาพอากาศ ที่ทำให้เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม หนาวจัด ฯลฯ สร้างความเสียหายแก่พืชผลการเกษตร ทำให้ผู้คนอดอยาก ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้ม ปกป้องโลก เริ่มมีรูโหว่ อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกเริ่มละลาย ฯลฯ หากปล่อยไปเช่นนี้ไม่นานจะเกิดหายนะใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์แสนฉลาดจะรับมือได้
และเพื่อตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว องค์การสหประชาชาติ หรือ UN. จึงได้กำหนดให้วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็น วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day เพื่อเป็นโอกาสอันดีที่คนทั่วโลกจะได้พร้อมใจกันทำประโยชน์ เพื่อรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน และให้โลกของเราคงอยู่ด้วยอากาศที่บริสุทธิ์และสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป
ประวัติวันคุ้มครองโลก
วันคุ้มครองโลกนี้ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1962(พ.ศ.2505) ต่อมา สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ตัดสินใจขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เคเนดีเห็นด้วยและได้ออกเดินสายทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 (ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต) การเดินสายครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มวันคุ้มครองโลก จนในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เพื่อให้แสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้เชิญชวนให้ทุก ๆ คนร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น นำสู่ความสำเร็จของการก่อตั้งวันคุ้มครองโลกขึ้นต่อมา โดย โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program "UNEP") ได้ประกาศให้ทุก ๆ วันที่ 22 เมษายน เป็น "วันคุ้มครองโลก" เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513
เราจะมีส่วนร่วมในการรักษาโลกใบนี้ได้อย่างไร
- การลดใช้พลังงาน ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น , ถอดปลั๊ก , เดินทางด้วยจักรยาน หรือรถโดยสารสาธารณะ , ขึ้นลงอาคาร 1 - 2 ชั้นให้ใช้บันได , หากต้องเปลี่ยนหลอดไฟ ให้ใช้หลอดประหยัดไฟ ฯลฯ
- ใช้พลังงานทางเลือกถ้าสามารถทำได้ เช่น ติดโซลาร์เซล , กังหันไฟฟ้า ฯลฯ
- ปลูกต้นไม้ถ้าทำได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ตัดโค่น หรือส่งเสริมให้เกิดการตัดโค่นต้นไม้ทั้งทางตรง และโดยอ้อม
- ไม่ซื้อ-ขาย ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า สัตว์ทะเลหายาก ทั้งหลาย อันจะเป็นการส่งเสริมวงจรทำลายธรรมชาติ
- ไม่สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศน์ เช่น ทิ้งขยะไม่เป็นที่ , เผาขยะ เผาหญ้า ฯลฯ
- ไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์จากบริษัท องค์กร หรือเอกชน ที่สร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ใช้แรงกดดันทางสังคม โซเชี่ยล เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- ปลูกฝังความคิดในการรักษาสภาพแวดล้อม และธรรมชาติ แก่เยาวชน เพราะวันหนึ่งเด็ก ๆ จะเป็นผู้ปกปักษ์รักษาโลกใบนี้ต่อจากรุ่นของเรา(เราจะเหลืออะไรไว้ให้บ้าง ?)
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย