ทำนา 1 ไร่ 1 แสน เพื่อเกษตรกรตัวจริง และความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน

Sent
ชาวนาในยุครัฐบาลเฮงซวย ที่ข้าวเปลือกถูก ข้าวถุงแพง  คงต้องพึ่งพาตนเอง ปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบเกษตรกรรม  โดยเน้นการลดต้นทุน  เพิ่มผลผลิต  ทำการเกษตรที่ละเอียดอ่อนและใส่ใจมากยิ่งขึ้น  ผมได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการทำนา 1 ไร ให้ได้เงิน 1 แสนบาท  จึงรู้สึกสนใจและค้นหารายละเอียดมาเพิ่มเติม เพื่อนำมาแบ่งปันกันในที่นี้ครับ
     ทำกิน 1 ไร่ ทำได้ 1 แสน เป็นการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่ 1 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทุกตารางนิ้ว แปรความคิดของเกษตรผสมผสานไปสู่การปฏิบัติที่สามารถรับรองผล หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการต่อยอดจากแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยจะเป็นการทำการเกษตรในพื้นที่จำกัด เพียง 1 ไร่ ให้มีรายได้ที่ยั่งยืน

ผังแปลงนา เนื้อที่ 1 ไร่
     ส่วนแรก คือ พื้นที่นาสำหรับปลูกข้าว เป็นที่สร้างแพลงก์ตอน สาหร่าย ที่เป็นอาหารปลาและกบ
     ส่วนที่สอง คือ ร่องน้ำรอบนาข้าว สำหรับเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอย ซึ่งมูลสัตว์เหล่านี้จะกลายส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร และเป็นปุ๋ยให้กับข้าวด้วย
     ส่วนที่สาม คือ พื้นที่บนคันนาขยายให้กว้าง และสามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผัก เช่น ผักสวนครัว พืชสมุนไพรเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน และสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร แนวเขตบนคันนาบางส่วนแบ่งไว้สำหรับเลี้ยงเป็ด เป็ดจะไปหากินตามแปลงนา เกษตรกรสามารถบริโภคไข่เป็ด และนำไปจำหน่ายได้ด้วย


     การทำเกษตรลักษณะนี้ เป็นแนวคิดที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ โดยมีขั้นตอนในการนำก้อน
จุลินทรีย์มาปรับปรุงทั้งดิน และน้ำในแปลงเกษตร เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นดินและพื้นน้ำ การเกิด แพลงก์ตอนแดง , แพลงก์ตอนเขียว อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร สำหรับสิ่งมีชีวิตในน้ำ เช่น ปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียน และกบ เป็นต้น ที่ถูกปล่อยลงไปในร่องน้ำ และเจริญเติบโตเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์
     เป็ดที่เลี้ยงไว้จะกินหอยเชอร์รี่ที่เป็นศัตรูของข้าวรวมถึงไข่หอยเชอร์รี่ มูลสัตว์ที่ถ่ายออกมาจะทำหน้าที่เป็นปุ๋ยและเป็นอาหารของปลา กุ้ง และหอย ปลาจะกินแพลงก์ตอน กบจะคอยกินแมลงที่กินต้นข้าว ซึ่งในวงจรของสัตว์เหล่านี้ จะพึ่งพาห่วงโซ่อาหารตามวัฏจักรเป็นหลัก
     สิ่งที่ต้องคำนึง และระมัดระวังในการทำเกษตร คือ การต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ต้องสังเกต และมีวินัยในการดูแลพื้นที่อย่างจริงจัง จะส่งผลในระยะเวลาไม่นานนัก

ประมาณการรายรับ - รายจ่าย จากการทำเกษตร แนวคิด “ทำกิน ๑ ไร่ ทำได้ ๑ แสน”
     รายจ่าย
          การปรับปรุงพื้นที่ เช่น ขุดร่องน้ำ   10,000 บาท
          การปรับปรุงสภาพดิน และน้ำ เช่น การทำจุลินทรีย์   5,000 บาท
          ค่าพันธุ์ข้าวหอมนิล   1,000 บาท
          ค่าพันธุ์ปลา จำนวน 10,000 ตัว   10,000 บาท
          ค่าพันธุ์กบ จำนวน 5,000 ตัว   5,000 บาท
          ค่าพันธุ์เป็ด จำนวน 50 ตัว   5,000 บาท
          อาหารปลา และอาหารลูกกบ (ช่วง 1 เดือนแรก)   3,000 บาท
          ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่างๆ (เดือนละ 3,000 บาท)   36,000 บาท
                    รวมรายจ่าย 75,000 บาท

     รายรับ
          ข้าวหอมนิล   30,000 บาท
          ไข่เป็ด   32,000 บาท
          ปลา   36,000 บาท
          กบ   90,000 บาท
                    รวมรายรับ(ก่อนหักรายจ่าย) 188,000 บาท

          รายรับสุทธิ(188,000 - 75,000) 113,000 บาท

     เป็นไงครับ น่าสนใจใช่มั๊ยครับ  แต่เดี๋ยวก่อน ! คนที่จะทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน นี้จะต้องมีข้อปฏิบัติที่เข้มงวดอยู่เหมือนกันนะครับ  ชาวนามือถือ ที่โทรสั่งทุกขั้นตอน ตีนไม่เคยเหยียบนา ก็ผ่านไปได้เลยนะครับ  แล้วไม่ต้องคิดว่ามีนา 10 ไร จะทำแบบนี้ทั้ง 10 ไร่ ก็จะได้เงินล้าน แบบนี้ก็เจ๊งแน่นอน  หลัก ๆ ก็ต้องยึดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงครับ
     หลายท่านอาจจะนึกแย้งว่าเป็นไปไม่ได้  แต่ทาง ธ.ก.ส. ได้เคยมีการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีแปลงนาสาธิต ให้ใช้ชีวิตอยู่ในแปลงนา 1 รอบการผลิต  เสร็จโครงการแล้วมาคำนวณรายได้กัน ส่วนมากได้เกินแสนบาท  ลองดูคลิปด้านล่างนี้เรียกน้ำย่อยกันก่อนครับ  คราวหน้าจะนำเอาสมุดคู่มือมาแจกจ่ายกันถึงขั้นตอนการทำนา 1 ไร่ 1 แสน โดยละเอียดต่อไป

* หมายเหตุ : - ผลผลิต จะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติที่ถูกต้องตามทฤษฎี และรายรับจากการขายจะแปรเปลี่ยนไปตามราคาตลาดของแต่ละพื้นที่ (ไม่รวมพืชผักสวนครัว ซึ่งใช้บริโภค และขายบางส่วน)
- สำหรับรายจ่าย ตามตารางข้างต้นเป็นประมาณการจากการทดลองดำเนินการในแปลงสาธิต ซึ่งอาจเพิ่มขึ้น หรือลดลงตามสภาพของพื้นที่ที่แตกต่างกัน
- เป็นการคำนวณจาก 1 รอบการผลิต ประมาณ 5 เดือน  ใน 1 ปี สามารถทำได้ 2 ครั้ง