ความก้าวหน้าของวิทยาการ มีอะไร ๆ ให้ประหลาดใจกันได้อยู่เสมอ ในยุคนี้ "พลังงาน" ดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์จะขาดไม่ได้เสียแล้ว เพราะเราเกี่ยวข้องกับพลังงานในทุกช่วงเวลาในแต่ละวัน โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ที่ในแต่ละวันแบตเตอรี่ที่มีดูจะไม่พอใช้เสียแล้ว ต้องมี PowerBank ติดตัวอีกอัน(จากโทรศัพท์ไร้สาย กลายเป็นต้องมีสายต่อPowerBank อีก)
เมื่อประมาณปี ค.ศ.2010 โนเกีย ได้ทดลองผลิตมือถือที่เรียกว่า “Colaphone” โดยใช้พลังงานจากน้ำอัดลม หรือน้ำหวาน ซึ่งเทคโนโลยี sugar batteries ก็ได้มีการพัฒนาต่อมาจน ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา วารสาร เนเจอร์ คอมมูนิเคชั่นส์ได้ตีพิมพ์งานวิจัยใหม่ของวาย. เอช. จาง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จีเนีย เทค สหรัฐฯ ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากน้ำตาลที่สามารถผลิตพลังงานได้มากกว่าที่เคยมีการพัฒนาก่อนหน้านี้ โดยแบตเตอรี่น้ำตาลดังกล่าวจะมีระยะการใช้งานนานกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมที่ใช้กันในปัจจุบัน 2 เท่าและมีความหนาแน่นของพลังงาน (Energy Density) มากกว่าถึง 10 เท่า
แบตเตอรี่ที่ใช้พลังงานจากน้ำตาลนี้มีความพิเศษเหนือแบตเตอรี่ลิเธียมในหลายด้าน หนึ่งคือต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เพราะน้ำตาลเป็นสารประกอบที่มีอยู่ในพืชหลากหลายชนิด ในขณะที่แร่ลิเธียมเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงไม่กี่แห่งบนโลก เช่น โบลิเวีย จีน อาร์เจนตินา ชิลี และออสเตรเลีย สองคือความปลอดภัยในระหว่างการใช้งาน เนื่องจากแบตเตอรี่น้ำตาลจะไม่ติดไฟหรือระเบิด ทั้งยังย่อยสลายได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน ต่างจากแบตเตอรี่ชนิดชาร์จซ้ำได้ที่ผลิตจากโลหะหนักอย่างนิกเกิลและแคดเมียมซึ่งเป็นวัตถุอันตราย และต้องกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่สามารถทิ้งรวมกับขยะอื่นๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เทคโนโลยีแบตเตอรี่พลังงานน้ำตาล ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ให้มีประสิทธิภาพและมีความเสถียรมากขึ้น โดยทีมนักวิจัยคาดว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ภายในเวลาอย่างน้อย 3 ปี จะสามารถนำไปใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ พร้อมวางขายในตลาดด้วยราคาประมาณหนึ่งใน 10 ของแบตเตอรี่ลิเธียมเท่านั้น
น่าตื่นเต้นมาก ๆ ครับ ถ้ามีการผลิตออกมาใช้ได้จริง ๆ ประเทศไทย น่าจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกได้ เพราะเราปลูกอ้อยติดอันดับโลกเหมือนกัน นั่นจะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ที่สำคัญเทคโนโยลีนี้ดีกับสิ่งแวดล้อม ต่อไปอาจพัฒนาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นได้ ต้องติดตามครับ
บทความโดย เทคโนนิค
ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก http://www.tcdc.or.th/