เทศบาลจังหวัด การปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ !!

Sent
0
ข่าวมาแรง .....  ยกเลิก "องค์การบริหารส่วนจังหวัด" ผนวก  "อบจ.- เทศบาลเมือง" ยกเป็น"เทศบาลจังหวัด" ต่อไป จะมีเพียงเทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ เทศบาลตำบล ถือเป็นการ พลิกโฉมท้องถิ่นไทย ด้วยการให้อำนาจท้องถิ่น ในการบริหารมากขึ้น โดยจะยึดโมเดลการบริหารงาน ของประเทศญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จ อย่างมากในการบริหารงานท้องถิ่น ซึ่งโมเดลดังกล่าวญี่ปุ่นใช้มานานแล้วประสบผลสำเร็จดีมาก

     ข้อดีของโมเดลนี้คือ บริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ ได้เร็วขึ้นและทั่วถึงรวมทั้งสามารถตรวจสอบนักการเมืองท้องถิ่นที่ทุจริตคอร์รัปชั่นได้ 

     ปัญหาที่ผ่านมา คือ อบต.และเทศบาลตำบล มีจำนวนมากเกินไป อำนาจหน้าที่ในส่วนของ อบจ. อบต. และเทศบาล มีความซ้ำซ้อนกัน  จึงมีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลง อบต.ทุกแห่งให้เป็นเทศบาล พร้อมกำหนดสัดส่วน สมาชิกให้เหมาะสม และยุบรวมเทศบาล ที่มีจำนวนประชากรไม่ถึง 2,000 คน เข้ากับเทศบาล ที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ในเขตอำเภอเดียวกัน

     สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะยุบ อบต.หรือเทศบาลไหนรวมกันนั้น จะดูจากจำนวนประชากร รายได้ประชากร โครงสร้างสังคม ลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นหลัก แนวทางในการปฏิรูปโครงสร้าง  ให้ยุบเทศบาลเมือง ของจังหวัด รวมกับ อบจ. เป็นเทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ เทศบาลตำบล ส่วน อบต.  ให้ยกเลิกไป

     อำนาจหน้าที่ นายกเทศมนตรีจังหวัด ไม่มีอำนาจ/หน้าที่  ในการแต่งตั้งโยกย้าย  เป็นหน้าที่ของ ปลัดสภาจังหวัด โดยสมาชิกจะมาจาก 2 ระบบ คือ มาจากการเลือกตั้ง 50% และแต่งตั้ง 50% ที่มาจาก เทศบาลอำเภอ ตำบล และข้าราชการประจำ

     รูปแบบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น จากเดิม มี 4 แบบ  ประกอบด้วย 1.ปฏิรูปท้องถิ่น จากเดิม มี 4 รูปแบบคือ 1.อบต. 2.เทศบาล 3.อบจ. และ 4.รูปแบบพิเศษ กทม. เมืองพัทยา ให้คงเหลือ 2 รูปแบบ คือ 1.เทศบาล กับ 2.รูปแบบพิเศษ

     ปรับรูปแบบท้องถิ่น อบต.ทั้งหมด เป็น เทศบาลตำบล โดยให้ยุบรวมของเดิมหมด เหลือ 1 เทศบาล ต่อ 1 ตำบล 

     เทศบาล มี 3 รูปแบบ คือ 1.เทศบาลตำบล 2. เทศบาลอำเภอ และ  3. เทศบาลจังหวัด  

     แบ่งระดับชั้น ขนาดของเทศบาลไว้ 3 ระดับ คือ ใหญ่ กลาง เล็ก ทั้ง  เทศบาลตำบล  เทศบาลอำเภอ และเทศบาลจังหวัด  โดยแบ่งตาม จำนวนหมู่บ้าน พื้นที่ ประชากร พื้นที่เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ กำหนด

     อบจ. เปลี่ยนอำนาจหน้าที่ จากเดิมให้บริการสาธารณะ เหมือนท้องถิ่นอื่น เปลี่ยนใหม่ ให้เป็นฝ่ายอำนวยการ โดย จัดตั้งเป็น สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด มีหน้าที่ เป็นฝ่ายอำนวยการ ให้กับเทศบาล จัดตั้งแยกงบประมาณ เป็นกองทุน จัดสวัสดิการ เงินเดือน ค่าตอบแทน  ประโยชน์ตอบแทนอื่น การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น กำกับดูแล ตรวจสอบ รับเรื่องร้องเรียน สอบสวนทางวินัย ฝึกอบรมให้ความรู้ ให้กับข้าราชการท้องถิ่น ในจังหวัด  และจัดสรรงบประมาณให้กับ เทศบาลตำบล เทศบาลอำเภอ และเทศบาลจังหวัด อย่างเป็นธรรมและเสมอภาค เป็นประจำทุกปี โดยจัดให้มี  หัวหน้าสำนักงานมาจากข้าราชการประจำ  อาจมาจาก ปลัดเทศบาลที่มีคุณสมบัติผ่านการสอบคัดเลือกมาก็ได้ เรียกชื่อ ผู้อำนวยการท้องถิ่นจังหวัด..... ไม่มีฝ่ายการเมืองมาทำหน้าที่ ยกเลิกการเลือกตั้งในระดับนี้

     จัดให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ทุกระดับโดยตรง ให้เทศบาลตำบล มี รองนายกฯ ได้ 1 คน เลขานายก 1 คน เทศบาลอำเภอ มีรองนายก 2 คน เลขานายก 1 คน เทศบาลเมือง มีรองนายก 3 คน เลขานายก 1 คน เป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงาน ให้นายกเทศมนตรี มีอัตราเงินเดือน อยู่ที่ขั้นสูงสุดของระดับซีหรือแท่งเงินเดือนของปลัดเทศบาล  นายกเทศมนตรีอยู่ได้ ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน มีวาระละ 4 ปี

     สภาเทศบาลตำบล และเทศบาลอำเภอ  มาจากจำนวนผู้ใหญ่บ้าน ทุกหมู่บ้านในเขตตำบลนั้น ๆ เท่าที่มีอยู่เป็นสมาชิกสภาโดยตำแหน่ง สภาเทศบาลจังหวัด ให้ใช้หัวหน้าชุมชน เป็นสมาชิกสภาเทศบาล มีจำนวน ไม่เกิน 36 คน หากจำนวนชุมชนเกินกว่า 36 ชุมชน ให้เลือกกันเอง ให้เลือกไม่เกิน 36 คน ตามขนาดของเทศบาลจังหวัด โดยให้สมาชิกสภาเทศบาล ได้รับค่าตอบแทนรายเดือน แต่ไม่น้อยกว่าเงินเดือนขั้นต่ำ ระดับปริญญาตรี และมีเบี้ยประชุม เป็นรายครั้งที่มี การประชุม ตามระเบียบที่กำหนด

     จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลตำบล ขนาดเล็ก มีจำนวน ไม่เกิน 10 คน ขนาดกลาง ไม่เกิน 12 คน ขนาดใหญ่ ไม่เกิน 16 คน หากจำนวนหมู่บ้าน มีเกินกว่าจำนวนสมาชิก จัดให้มีการจับฉลากออก เพื่อสับเปลี่ยนทุก ๆ 2 ปี

     จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลอำเภอ ขนาดเล็ก มีจำนวน ไม่เกิน 12 คน ขนาดกลาง ไม่เกิน 16 คน ขนาดใหญ่ ไม่เกิน 18 คน หากจำนวนหมู่บ้านมีเกินกว่าจำนวนสมาชิก จัดให้มีการจับฉลากออกเพื่อสับเปลี่ยนทุก ๆ 2 ปี

     จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลจังหวัด ขนาดเล็ก มีจำนวน ไม่เกิน 18 คน ขนาดกลาง ไม่เกิน 24 คน ขนาดใหญ่ ไม่เกิน 36 คน หากจำนวนชุมชน มีเกินกว่าจำนวนสมาชิก จัดให้มีการจับฉลากออก เพื่อสับเปลี่ยนทุก ๆ 2 ปี



     อำนาจการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ให้อยู่ในรูปคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ 1.ผู้แทนส่วนราชการอื่น จำนวน 6 คน ผู้แทนผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 6 คน ผู้แทนข้าราชการประจำ 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี โดยให้คณะกรรมการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน ขึ้นเป็นประธาน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ให้มีการคัดเลือกใหม่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จะเป็นประธาน เกิน 2 วาระติดต่อกัน ไม่ได้

     ปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 7,853 แห่ง ประกอบด้วย  อบจ.  76 แห่ง   เทศบาล 2,440 แห่ง โดยแบ่งเป็นเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 178 แห่ง เทศบาลตำบล 2,232 แห่ง   อบต. 5,335 แห่ง และ รูปแบบพิเศษ คือกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา  2 แห่ง

ปล. บทความนี้เป็นเพียงแนวทางที่เป็นไปได้  ซึ่งทาง คสช. อาจนำมาใช้  ต้องติดตามกันต่อไปครับ

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)