16 ตัวช่วยลดภาษีบุคคลธรรมดา !

Sent
0
ถึงเวลาสิ้นปี นอกจากจะเป็นช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่า เตรียมตัวรับปีใหม่กันแล้ว  ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญของท่านสำหรับการรวบรวม "ค่าลดหย่อนภาษี" สำหรับบุคคลธรรมดา เพื่อนำไปคิดคำนวณการเสียภาษีในต้นปีหน้า  ถ้าคุณไม่เตรียมตัวพอถึงเวลาเสียภาษีจริง ๆ จะเสียดายที่ไม่นำหลักฐานลดหย่อนต่าง ๆ มายื่น  มันอาจเป็นความแตกต่างระดับหลายพันบาท  จนถึงหลายหมื่นบาทก็เป็นได้

     มาดูกันดีกว่าครับ ว่าค่าลดหย่อนทั้งหลายที่เราสามารถนำมาเป็นตัวช่วยในการคำนวณภาษีนั้น  มีอะไรกันบ้าง(ยาวเลยนะ แต่รับรองว่าเป็นบทความเดียวที่จะประหยัดเงินคุณได้หลายบาท 55)

     1. ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล   ไม่ต้องคิดไรมาก  ได้เท่า ๆ กันที่ 30,000 บาท/คน  คุณได้สิทธินั้นทันที

     2. ค่าลดหย่อนจากกรณี คู่สมรส ไม่มีเงินได้  สำหรับคู่ สามี-ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย(กิ๊ก เมียเก็บ ไม่นับนะครัช) และคู่สมรสไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน

     3. ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร และการศึกษาบุตร  นับจากบุตรที่ยังมีชีวิตทั้งบุตรตามกฎหมายและบุตรบุญธรรม  โดยหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท  และไม่เกิน 3 คน(รวมแล้วไม่เกิน 45,000 บาท)  โดยบุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ หรือถ้าเกินจะต้องอยู่ระหว่างศึกษาในระดับ ปวส. ขึ้นไปเท่านั้น(กรณีนี้ให้ได้ไม่เกินอายุ 25 ปี)    และหากบุตรของท่านศึกษาในประเทศจะได้รับการลดหย่อนเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท  ทั้งนี้บุตรที่จะนำมาลดหย่อนดังกล่าวนั้นจะต้องไม่มีรายได้เกิน 15,000 บาท หรือรายได้นั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เช่น บุตรที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี รับเงินปันผล ซึ่งจะถือว่าเงินปันผลนั้นเป็นของผู้ปกครอง จะไม่ถือว่าบุตรมีรายได้

     4. ลดหย่อนจากดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท/คน   จะเป็นการเช่าซื้อบ้าน คอนโด สร้างที่อยู่บนที่ดินตนเอง หรือที่อยู่อาศัยอื่น ๆ โดยมีเงื่อนไขต้องกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศ และต้องนำที่อยู่อาศัยดังกล่าวมาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน(จำนอง)ด้วย   หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง ก็นำมาลดหย่อนได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท  ในกรณีกู้ร่วมก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน  รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท

     5. ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ของตัวท่านเอง และของคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 120,000 บาท  โดยบิดา-มารดา ดังกล่าวจะต้องมีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท  ทั้งนี้ต้องให้บิดา-มารดา นั้นออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดูด้วย  เพราะจะให้สิทธิลดหย่อนแก่บุตรเพียงคนเดียวเท่านั้น

     6. ลดหย่อนจากประกันชีวิต  แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 

            ประกันชีวิตแบบทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท  โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นการทำประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม ส่วนเบี้ยประกันเพิ่มเติมจำพวกประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ จะไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ส่วนผู้ที่คู่สมรสมีประกันชีวิตอยู่หรือซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสไว้ และคู่สมรสไม่มีรายได้ แต่ยังจ่ายเบี้ยประกันอยู่ สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท เพราะเมื่อไม่มีรายได้ จึงไม่จำเป็นต้องหักลดหย่อนภาษีนั่นเอง (ส่วนที่เหลืออีก 90,000 บาทเป็นการยกเว้นจากรายได้)

            ประกันชีวิตแบบบำนาญ แบบนี้จะลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปีต่อเนื่องไปจนถึง 85 ปี และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

     7. ลดหย่อนจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF( Long Term equity Fund ) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ซื้อหน่วยลงทุน LTF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผลตอบแทนด้วยคือ สามารถซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย ทั้งนี้ กองทุน LTF ที่ซื้อไว้ต้องไม่ต่ำกว่า 5 ปี (นับตามปี พ.ศ. เช่น ซื้อ LTF ปี 2558 จะต้องถือไว้จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นอย่างน้อย) และไม่สามารถโอนหรือจำนำไปเพื่อเป็นหลักประกันได้

            ตัวอย่างการลดหย่อนภาษีจาก LTF เช่น ผู้มีรายได้สุทธิ 3 ล้านบาทต่อปี จะต้องเสียภาษีในอัตรา 30% ตามกฎหมาย คือ 9 แสนบาท แต่เมื่อซื้อกองทุน LTF 15% ของรายได้เเล้ว จะสามารถซื้อกองทุน LTF ได้วงเงินสูงสุด 450,000 บาท จึงนำรายได้สุทธิ 3 ล้านนั้น หักลดหย่อนจากกองทุนออก 450,000 เท่ากับ 2,550,000 บาท ก็จะได้เงินสุทธิที่เหลือจริง แล้วจึงนำไปคำนวณการจ่ายภาษีที่ 2,550,000 X 30% = 765,000 บาท ซึ่งจะลดลงจากเดิมที่ต้องจ่ายภาษี 9 แสนบาท


     8. ลดหย่อนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ( Retirement Mutual Fund ) เป็นกองทุนรวมที่จัดขึ้นเพื่อการออมและการลงทุนในระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมหลังเกษียณ โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีคือ หักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้ามีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว เมื่อนำมารวมกับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนใน RMF แล้วก็หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาทเช่นกัน

            สามารถคิดตามสูตรได้คือ  RMF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ  รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท

     9. ลดหย่อนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนเงินออมของสมาชิก ซึ่งกำหนดให้สมาชิกของ กบข.  ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน กบข. 3% ในแต่ละเดือน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้อีก 3% ด้วยเช่นกัน โดยสมาชิกที่จ่ายเงินสบทบเข้า กบข. นี้จะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000  บาท

     10. ลดหย่อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาชิกที่จ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้เมื่อรวมกับ RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

     11. ลดหย่อนจากกองทุนการออมแห่งชาติ ถือเป็นปีแรกที่ผู้ที่เป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีจากเงินสะสมเข้า กอช. ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมในลักษณะเดียวกันแล้ว ต้องไม่เกินกว่าจำนวนตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด

     12. ลดหย่อนจากการจ่ายประกันสังคม เงินสมทบกองทุนประกันสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่บุคคลที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท อันมาจากการคำนวณรายได้สูงสุดที่เดือนละ 15,000 บาท

     13. ลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์  เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นเป็นปีแรก  ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ซื้อบ้านให้กับประชาชน สามารถซื้อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท สามารถนำ 20% ของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ ไปใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งสิทธิ์การลดหย่อนส่วนนี้ จะแยกกับการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านอีกด้วย

     14. ลดหย่อนจากค่าเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ  สามารถใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 60,000 บาท หากเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี

     15. ลดหย่อนจากเงินบริจาค สำหรับผู้ใจบุญ การบริจาคให้การกุศลต่าง ๆ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังหักลดหย่อน และยกเว้นกรณีอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว  โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น ไม่สามารถนำการบริจาคที่เป็นสิ่งของมาหักลดหย่อนได้ และหากต้องการลดหย่อนแบบคูณ 2 จะต้องเป็นการบริจาคเงินให้กับโรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือสมาคมกีฬาที่ได้รับการอนุญาติจากการกีฬาแห่งประเทศไทยแล้วเท่านั้น เช่น บริจาคให้โรงเรียนหรือสมาคมกีฬา 1,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2,000 บาท (1,000 x 2 = 2,000) 

            ทั้งนี้ การบริจาคที่จะนำมาใช้ลดหย่อนจะต้องมีใบเสร็จรับเงินบริจาค หรือใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อผู้บริจาคชัดเจนตรงกับชื่อ-นามสกุลของผู้เสียภาษี เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐาน และหากมีการบริจาคร่วมกันหลายคน ให้เฉลี่ยเงินบริจาคออกเป็นเท่า ๆ กันตามสัดส่วน   ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานศึกษา หน่วยงานกีฬา สถานสงเคราะห์ มูลนิธิ สมาคม วัดต่าง ๆ ได้ที่ เว็บไซต์ กรมสรรพากร

     16. ลดหย่อนจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 58 นี้  สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท จาก 2 เงื่อนไขรวมกัน คือ

            ค่าที่พัก  จะต้องเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย  เก็บหลักฐานหรือใบเสร็จ ที่ระบุชื่อท่าน จำนวนเงิน วันเดือนปีที่พัก ไว้ด้วยนะครับ  ตรวจสอบรายชื่อโรงแรมที่พัก ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร

            ค่าบริการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์(แพ็จเกจทัวร์นั่นเอง) บริษัทนำเที่ยวจะต้องจดทะเบียนกับสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว  นะครับ  ตรวจสอบข้อมูลบริษัท ได้ที่เว็บ กรมสรรพากร เช่นเคย
     เมื่อเราทราบแล้วว่ามีอะไรที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้  ก็เตรียมหลักฐานเอาไว้เลยนะครับ  หรือจะลองมาคำนวณภาษีกันแบบคร่าว ๆ  ได้ที่ เว็บไซต์ กบข.  หรือที่ ธนาคารทหารไทย ครับ  สำหรับด้านล่างนี้เป็นขั้นภาษี ที่คุณจะต้องจ่าย  โดยคิดจาก รายได้ - ค่าลดหย่อนต่าง ๆ = เงินได้สุทธิ  ลองคิดกันดูครับ


     แนะนำให้เก็บหลักฐานต่าง ๆ ไว้ในแฟ้มเดียวกัน  หลังจากลองคำนวณดูแล้ว  ท่านที่จะต้องเสียภาษี อาจจะพิจารณาการซื้อประกันชีวิต หรือกองทุนต่าง ๆ ข้างต้น  เพื่อใช้ลดหย่อน  ซึ่งอาจทำให้ท่านได้คืนภาษีด้วยก็เป็นได้

by  EcoMan
Tags

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)