24 มิถุนา 2475 อภิวัฒน์สยาม และ วันชาติที่หายไป !??!

Sent
24 มิถุนายน กลายเป็นวันธรรมดา ที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ กันอีกแล้ว  บางคนถึงกับไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้ มันมีความสำคัญอย่างไร  เกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยในประเทศไทย  ประเทศที่ไม่มีวันชาติ เป็นประเทศแบบไหนกัน
     ขอเริ่มด้วยความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน ในปี พ.ศ.2475 ก่อนครับ  วันดังกล่าวคือวันที่ คณะราษฎร์ ยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งอยู่ในแบบเรียนอยู่แล้ว  แต่ที่น่าขันคือการพยายามล้างสมองคนไทยให้คิดไปว่า คณะราษฎร์ชิงสุกก่อนห่าม คนไทยยังไม่พร้อม และ ร.๗ เตรียมจะให้ประชาธิปไตย อยู่แล้ว  ครับปัจจุบันก็ยังอ้างว่าไม่พร้อม ยังโง่อยู่  มีเผด็จการที่ไหนจะยอมคายอำนาจ ผลประโยชน์ ทรัพยากร ให้ประชาชน ?  
     ก่อน 2475 ประเทศไทยเป็นยังไง ? ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น มีการกดขี่ประชาชนอย่างที่คนสมัยนี้คาดไม่ถึงในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ การศึกษา ที่ระดับลูกเจ้า ลูกอามาตย์ เท่านั้น จะได้เข้าถึงการศึกษา ลูกไพร่เรียนที่วัดกับหลวงตา , การเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม  เหล่าขุนนาง อามาตย์ เสพสุขในขณะที่ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า  มีการแบ่งชนชั้น ศักดินา กันชัดเจน  เป็นเหตุให้กลุ่มนักเรียนนอกหัวก้าวหน้ารวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ในนาม คณะราษฎร์
     หลัก 6 ประการของคณะราษฎร หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า หลัก 6 ประการ ปรากฏอยู่ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และถือเป็นนโนบายของคณะกรรมการราษฎรชุดแรกในระบอบประชาธิปไตยของประเทศสยาม ซึ่งนำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา คณะกรรมการราษฎรคณะนี้ ไม่มีการแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาแต่ได้ถือเอาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ได้ให้สมาชิกสภาปฏิญาณตนต่อสภาก่อนเข้ารับหน้าที่นั้นเป็นนโยบายของรัฐบาล  หลัก 6 ประการของคณะราษฎรซึ่งสรุปคำใจความหลักได้ว่า  " เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา "  นี้ ได้รับการอ้างอิงหลายครั้งในงานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และรัฐพิธีในสมัยนั้น โดยอธิบายหลัก 6 ประการดังนี้
     ประการที่ 1 : จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
     ประการที่ 2 : จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
     ประการที่ 3 : จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุก ๆ คนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก 
     ประการที่ 4 : จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน 
     ประการที่ 5 : จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
     ประการที่ 6 : จะต้องให้การศึกษาเต็มที่แก่ราษฎร
     ในปี พ.ศ.2477 ได้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตลาดวิชา เพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและการเมือง สำหรับประชาชนทั่วไป
     วันชาติไทย เริ่มต้นเมื่อไหร่ ? : เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 และเริ่มงานฉลองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482  ต่อมาได้สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2503 จากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  ที่ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันชาติแทน  ต่อมาจากวันชาติ ก็กลายเป็นวันพ่อ  และแล้ววันชาติก็ได้ถูกลืมเลือนไปในที่สุด  
     เมื่อไม่เห็นความสำคัญของวันชาติ ก็มองไม่เห็นประชาธิปไตย และความสำคัญของประชาธิปไตย  ทำให้แม้ทุกวันนี้  ก็ยังคงมีคนไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร มากที่สุดอันดับ 4 ของโลก (อ่านรายชื่อประเทศผู้ทำสถิติแล้วทุเรศตัวเองจริง ๆ)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ชมเรื่องที่เกี่ยวข้อง