สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นี้ แม้ว่าจะมีผู้คัดค้านมากมาย อยากให้ปฏิรูปก่อนบ้าง อยากให้รัฐประหารก่อนบ้าง อยากให้ถนนลูกรังหมดก่อนบ้าง หรือบางคนอยากให้เลิกทาสก่อน แล้วค่อยมีเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ถ้าคุณไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะมีผลเสียหลายประการ ดังนี้
1.เสียสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. , ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
2. เสียสิทธิลงสมัครรับเลือกเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
3. เสียสิทธิร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. , ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
4. เสียสิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเห็นว่าการเลือกไม่สุจริต
5. เสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย
6. เสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้ ส.ว. มีมติถอดถอนบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต
7. เสียสิทธิเข้าชื่อขอให้สภาท้องถิ่น เช่น สภา อบต. สภาเทศบาล พิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
8. เสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นสิทธิต่าง ๆ
การเสียสิทธิดังกล่าวข้างต้นนี้จะ มีกำหนดเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งครั้งที่คุณไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งครั้งต่อไปที่คุณไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หมายความว่า หากคุณต้องการได้สิทธิที่เสียไปกลับคืนมาคุณก็ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าคุณไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตลอดไป คุณก็จะเสียสิทธิดังกล่าวตลอดไป เช่น ในการเลือกตั้งปี 54 คุณไม่ได้ไปใช้สิทธิ และไม่แจ้งเหตุ ต่อมาในการเลือกตั้ง อบจ. หรือ อบต. คุณได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คุณก็จะได้รับสิทธิทั้ง 8 ข้อข้างต้น กลับมาทันที(เป็นการเลือกตั้งที่จัดโดย กกต. เท่านั้นนะครับ การเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนเกษตรกร ฯลฯ ไม่นับตาม กฎหมายเลือกตั้ง ครับ)
การแจ้งเหตุกรณีไม่อาจไปใช้สิทธิ
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ จะต้องแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ ซึ่งการแจ้งเหตุนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุ ต่อ คณะกรรมการเลือกตั้งในแต่ละเขต ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเขต จะพิจารณาตามเหตุและผล กรณีเห็นว่าไม่สมควรจะต้องแจ้งต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายใน 3 วัน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็สามารถอุทธรณ์ต่อ กกต.จังหวัด ใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง
เหตุอันสมควรที่จะใช้แจ้งในการไม่ไปเลือกตั้ง อาทิ เจ็บป่วย(มีใบรับรองแพทย์) , ร่างกายทุพพลภาพจนไม่สะดวกในการไปใช้สิทธิ เป็นต้น
พรรคการเมืองที่บอยคอต ไม่ลงเลือกตั้ง บรรดาอดีต ส.ส. ทั้งหลายก็ต้องไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนกัน(กาอะไรก็แล้วแต่เขา) เพราะไม่เช่นนั้น การเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็จะไม่มีสิทธิในการลงสมัคร
ในส่วนของบุคคลทั่วไป การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็เหมือนกับการรักษาระบอบประชาธิปไตยของไทย ให้ยังคงอยู่ ไม่ถูกกลุ่มบุคคลเอาสิทธิในการเลือกอนาคตของเราไป เป็นการยืนยันความเป็นตัวตนของคุณ ยืนยันว่า 1 เสียงของคุณ มันดัง และมีค่า เท่ากับเสียงของแกนนำ , ผู้ดีตีนแดง , ชนชั้นสูง , หมอที่หนีคนไข้มาประท้วง หรือคนที่คิดว่าตนเองเป็น เทวดา ไปแสดงพลังของมวลมหาประชาชนของจริง ตัดสินกันที่คูหา บอกให้มันรู้ว่า "RESPECT MY VOTE !!"