ระเบียบกรมการขนส่งฉบับใหม่ ระบุเจ้าของรถส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง และน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม จะจดทะเบียนต้องแจ้งเหตุผลการใช้รถ โชว์รายได้ และยื่นหลักฐานเสียภาษีบุคคลธรรมดาย้อนหลัง พร้อมภาพถ่ายที่จอดรถ โดยมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2558
ระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการขอจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2558 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2525 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นผู้ลงนาม
ทั้งนี้สาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้ อยู่ที่ข้อ 5 ที่ระบุถึงหลักเกณฑ์ในการรับจดทะเบียนรถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่งที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 12 ที่นั่ง ที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม รวมทั้งรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม ว่า เจ้าของรถจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ จึงสามารถจดทะเบียนรถยนต์ประเภทนี้ได้
1. มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและมีความจำเป็นต้องใช้รถเพื่อการส่วนตัวเท่านั้น
2. ไม่มีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับการนำรถยนต์ส่วนบุคคลไปใช้ทำการขนส่งเพื่อสินจ้าง หรือให้บุคคลอื่นใช้รถของตนกระทำการดังกล่าว ตลอดระยะเวลา 3 ปี ก่อนวันที่ยื่นคำขอ
3. มีสถานที่จอดรถเป็นของตนเอง โดยมีพื้นที่ขนาดไม่น้อยกว่า 35 ตารางเมตรต่อ 1 คัน และมีความเหมาะสมต่อการใช้เป็นที่จอดจริง
4.ได้รับความเห็นชอบให้จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย
นอกจากนี้ เจ้าของรถประเภทที่กล่าวมาจะต้องยื่นหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาการขอจดทะเบียน ประกอบด้วย
1. หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาย้อนหลัง 2 ปี
2. หลักฐานแสดงฐานะทางการเงินที่มั่นคง เช่น บัญชีเงินฝากธนาคารหรือสถาบันการเงิน
3. หนังสือชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการใช้รถคันที่ขอจดทะเบียนโดยละเอียด
4. ภาพถ่ายตัวรถ พร้อมรายละเอียดขนาดสัดส่วนและน้ำหนักของรถจากบริษัทผู้ผลิต
5. หลักฐานแสดงสถานที่จอดรถ ดังต่อไปนี้
- ภาพถ่ายสถานที่จอดรถขนาดไม่น้อยกว่า 7.6 x 12.7 เซนติเมตร จำนวน 2 รูป
- ภาพถ่ายแสดงทางเข้า-ออก ขนาดไม่น้อยกว่า 7.6 x 12.7 เซนติเมตร จำนวน 2 รูป
- แผนที่แสดงสถานที่จอดรถ ผังบริเวณที่จอดรถ และทางเข้า-ออก โดยระบุขนาดความกว้าง ความยาว
- หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในสถานที่จอดรถ เช่น โฉนดที่ดิน นส.3 ก, นส.3 หลักฐานแสดงสิทธิอื่น ๆ
ทั้งนี้ การยื่นหลักฐานดังกล่าวไม่รวมถึงเจ้าของรถยนต์นั่งที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง และรถยนต์นั่งที่มีที่นั่งเกิน 7 ที่นั่ง แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่งที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้าง
กล่าวโดยสรุปคือ รถยนต์เก๋งและกระบะทั่วไปที่ขายอยู่ตามท้องตลาดไม่กระทบ ท่านที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลก็สบายใจได้ แต่จุดประสงค์ต้องการจะควบคุมบรรดารถตู้ที่จะทะเบียนส่วนบุคคลแล้วนำมาวิ่งรับส่งผู้โดยสาร ที่มีมากมายในปัจจุบัน