จากกรณีที่ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าร้องเรียนต่อเลขาธิการ คสช. จากการที่ถูกผู้อำนวยการศูนย์ฯ และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ สั่งให้ปลอมแปลงเอกสารทางราชการในการเบิกจ่ายเงิน รวมทั้งการปลอมลายมือชื่อผู้ที่ได้รับเงินไปรวมกว่า 2,000 ราย คิดเป็นงบประมาณกว่า 6,900,000 บาท
และก่อให้เกิดการตรวจสอบการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ในอีกหลายจังหวัด ทำท่าว่าจะพบการทุจริตในจังหวัดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่อุกอาจ และอาจทำมานาน เพราะหากไม่ย่ามใจระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งคนนอกไม่กล้าที่จะสั่งนักศึกษาฝึกงาน ที่ไปฝึกงานด้านการพัฒนาชุมชนเพียง 4 เดือนให้ร่วมทำผิดแบบนี้
สำหรับ น.ส.ปณิดาฯ หรือน้องแบม นั้น เป็นเพียงนักศึกษาฝึกงาน ไม่ได้เงินเดือน ค่าตอบแทนจากรัฐแต่อย่างใด แต่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ตบหน้าเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ตื่นตัวมาตรวจสอบการทุจริตได้ในวงกว้าง น่าชื่นชมจริง ๆ และสมควรเป็นบุคลากรที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องการตัว แต่หน่วยงานภาครัฐไทยจะกล้ารับเข้าทำงานหรือเปล่า
เมื่อนำกรณีน้องแบม มาเทียบกับกรณี การตรวจสอบนาฬิกาหรูของผู้มีอำนาจ จากสุดยอดหน่วยงานปราบปรามทุจริต ที่มีดัชนีชี้วัดตกต่ำ แม้จะมีเงินเดือนและค่าตอบแทนเดือนละเป็นแสนบาท !
ดูความคืบหน้าในการจัดการตรวจสอบผู้มีอำนาจ ที่แต่งตั้งตัวเอง และผลการตรวจสอบคดีทุจริตก่อนหน้า เหมือนเป็นองค์กรฟอกขาวให้รัฐบาลเผด็จการมากกว่า ไม่ได้รับความเชื่อมั่น ศรัทธาจากทั้งประชาชน และหน่วยงานตรวจสอบต่างประเทศ แถมยังต่ออายุตัวเองออกไปทั้ง ๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ด้วยการยกเว้นกฎหมายให้
สะท้อนให้เห็นว่าหากเปิดให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสอบได้นั้น การป้องกันหรือปราบปรามทุจริต จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าบรรดาหน่วยงานต่าง ๆ เสียอีก น่าสนใจว่าหากประชาชนสามารถตรวจสอบ หน่วยทหาร หรือ องค์กรอิสระได้ จะเหลือใครเป็นข้าราชการอีกมั๊ย ... ลองดูมั๊ยล่ะท่าน