มะเฟือง ผลไม้พลัดถิ่น ประโยชน์สูง

Sent
0

มะเฟืองเป็น ไม้ผลยืนต้นขนาดกลาง ลักษณะเป็นทรงพุ่ม  ลำต้นและกิ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน   ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง และตาข้างตามกิ่งและลำต้น มีดอกสีชมพูอ่อนไปจนถึงเกือบแดง  ผลของมะเฟืองเป็นผลไม้ทรงกระสวย มีร่องลักษณะเป็นพูประมาณ 4 - 6 พู เมื่อหั่นแนวขวางได้เป็นรูปดาวห้าแฉก ภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า Star Fruit

     เดิมที มะเฟือง เป็นไม้ต้นพื้นเมืองของอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา   แต่ก็ได้นำมาเพาะปลูกในหลายประเทศที่ลักษณะภูมิอากาศใกล้เคียงกัน เช่น ไทย เวียดนาม    มะเฟืองเป็นพืชที่ปลูกง่าย ออกผลดกตลอดปี    ผลมะเฟือง มีน้ำอยู่มาก รสชาติออกเปรี้ยวอมหวาน และมีความเฝื่อนเล็กน้อย    สามารถทานเป็นผลไม้ หรือนำมาทานเป็นอาหารก็ได้ เช่น แหนมเนือง(อาหารเวียดนาม)  แต่ในวัฒนธรรมบ้านเรายังไม่ค่อยเห็นนิยมกันเท่าไหร่  ไม่เห็นการขายผลมะเฟืองตามตลาดแต่อย่างใด   อาจมีใส่ในสลัดเพื่อเพิ่มความหลากหลายของรสชาติ  หรือ หั่นจิ้มเกลือทานเล่น ประมาณนั้น

     ประโยชน์ของมะเฟือง  มีสารอาหารต่าง ๆ อยู่ในผลมะเฟือง  สามารถช่วยดับกระหาย  แก้ร้อนใน  ขับเสมหะ  และช่วยให้หลับสบายขึ้นด้วย  โดย ผลมะเฟือง มีคุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์) ดังนี้
  • พลังงาน 128 kJ (31 kcal)
  • คาร์โบไฮเดรต  6.73 g
  • น้ำตาล 3.98 g
  • ใยอาหาร 2.8 g
  • ไขมัน  .33 g
  • โปรตีน  1.04 g
  • กรดแพนโทเทนิก (บี5 ) (8%) .39 มก.
  • โฟเลต (บี9) (3%) 12 μg
  • วิตามินซี (41%) 34.4 มก.
  • ฟอสฟอรัส (2%) 12 มก.
  • โพแทสเซียม (3%) 133 มก.
  • สังกะสี (1%) .12 มก.
ดอกมะเฟือง

     หากเปรียบเทียบในปริมาณที่เท่ากันกับผลไม้ชนิดอื่น มะเฟืองเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำแต่มีสารแอนติออกซิแดนท์ซึ่งช่วยลดการอักเสบภายในเซลล์สูง โดยมะเฟือง 1 ส่วน มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ เช่น พอลิฟีนอล (Polyphenol) แทนนิน (Tannin) และคาเทชิน (Catechin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยชะลอวัยสูงถึง 236 มิลลิกรัม 14.6 และ 12.8 มิลลิกรัม ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นปริมาณสูงกว่าผลไม้ชนิดอื่น ในขณะที่ให้น้ำตาลเพียง 11.2 กรัม  แต่นอกจากจะมีสารสำคัญที่ช่วยลดเซลล์อักเสบและช่วยชะลอวัยแล้ว ยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายอีกด้วย

     งานวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า การกินมะเฟืองฝานวันละ 3 ชิ้น (100 กรัม) ติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์ มีผลให้ปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) และนิวโทรฟิล (Neutrophil) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการเสริมภูมิคุ้มกันและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เพิ่มขึ้น



     ทั้งนี้ยังมีผลเพิ่มระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือด (HDL Cholesterol) ซึ่งทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลร้ายไปกำจัดที่ตับ จึงช่วยให้ระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL Cholesterol) ในเลือดลดลง การกินมะเฟืองจึงช่วยลดไขมันในเส้นเลือดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

     โทษของมะเฟือง  สามารถเพิ่มโอกาสเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้เนื่องจากสารออกซาเลตที่มีอยู่มากในมะเฟืองจะไปจับตัวกับแคลเซียมตกเป็นผลึกในไต และยังทำให้เกิดอาการไตวายเฉียบพลันได้หากได้รับเข้าไปในปริมาณที่มาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะการขาดน้ำของร่างกายด้วย  ดังนั้นควรทานในปริมาณพอดี  โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงโรคไต   

     เห็นประโยชน์ดี ๆ มากมายอย่างนี้  ถ้ามีที่เหลือก็ลองปลูกมะเฟืองกันดูนะครับ  รับรองว่าแค่ต้นเดียว  ได้กินกันจนเบื่อแน่ ๆ  แถมยังมีแจกเพื่อนบ้านได้อีกเพียบเลย

... บ้านนอกแมน... 

ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต , วิกิพีเดีย 

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)