มิงกะลาบา เมียนมาร์

Sent
0

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์(Republic of the Union of Myanmar) เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่หลายคนยังไม่เคยไป  อาจเป็นเพราะเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน  ระบบคมนาคมก็เพิ่งจะพัฒนา  บ้านเมืองก็ยังไม่ค่อยเจริญเท่าใดนัก   แต่ตอนนี้ขอยืนยันกับเพื่อน ๆ นักเดินทางเลยครับว่า เมียนมาร์ พร้อมแล้วสำหรับการท่องเที่ยวและการลงทุน  ด้วยพื้นที่ประเทศที่กว้างใหญ่กว่าประเทศไทย  ทรัพยากรธรรมชาติยังสมบูรณ์ทั้งป่าเขา และทะเล  อีกทั้งยังมีโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่สำคัญอีกมากมาย

     การเดินทางไปเที่ยวเมียนมาร์ คุณสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินไปเอง แล้วเช่าแท็กซี่หรือหาไกด์ท้องถิ่นได้ที่สนามบินเลยครับ  แต่ต้องตกลงราคากันให้ชัดเจนนะครับ   ถ้าไม่อยากผจญภัย ก็ควรเที่ยวแบบซื้อทัวร์ดีกว่า  ไม่ต้องวางแผน ไม่ต้องคิดมากครับ



     ถนนหนทางในเมียนมาร์ ขับรถคนละด้านกับไทยครับ  จะขับชิดขวา  แต่รถจำนวนมากดันเป็นพวงมาลัยขวา  ทำให้การขับขี่อันตรายอยู่บ้าง  ส่วนกฎจราจรนั้นยังไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติอย่างเข้มงวดเท่าไหร่  เสียงแตรบริเวณที่รถติดจะดังระงมเลย

     สถานที่ท่องเที่ยวในเมียนมาร์ ส่วนมากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนาพุทธ  จะมีวัด เจดีย์ และ เทพ ต่าง ๆ ที่เป็นที่ขึ้นชื่อ  ทั้งในเรื่องความงดงามของสถาปัตยกรรม และความศักดิ์สิทธิ(ตามความศรัทธา)  เช่น มหาเจดีย์ชเวดากอง , พระธาตุอินทร์แขวน , เทพทันใจ เป็นต้น  หรือถ้าจะเที่ยวแบบธรรมชาติ ก็ตามชายทะเลอันดามัน ใกล้ จ.ระนอง

     แม้เมียนมาร์จะเปิดประเทศสู่การเป็นประชาธิปไตย  แต่สิ่งที่เผด็จการทหารทิ้งไว้เป็นภาระหนักหนาสาหัสของรัฐบาลเลือกตั้ง  เพราะประเทศล้าหลังกว่าเพื่อนบ้านในทุก ๆ ด้าน ทั้ง การศึกษา , โครงสร้างพื้นฐาน , ระบบเศรษฐกิจ , สาธารณสุข ฯลฯ  ขณะนี้มีนักลงทุน ทั้งจาก ญี่ปุ่น , เกาหลี และชาติอื่น ๆ เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานหลายแห่ง  น่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ ต่อไป  ถ้าทหารไม่ปฏิวัติยึดอำนาจเสียก่อน

     เมียนมาร์ เป็นประเทศที่มีหลากหลายวัฒนธรรม  เพราะประชากร มีหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ พม่า(68%) , ไทใหญ่(9%) , กะเหรี่ยง(7%) , ยะไข่(4%) , มอญ(2%) และ อื่น ๆ 10%  โดยในประวัติศาสตร์ นั้น มนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศพม่าเมื่อราว 11,000 ปีมาแล้ว แต่มนุษย์ที่สามารถสร้างอารยธรรมขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ก็คือชาวมอญ ชาวมอญได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้เมื่อราว 2,400 ปีก่อนพุทธกาล และได้สถาปนาอาณาจักรสุธรรมวดี อันเป็นอาณาจักรแห่งแรกขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ณ บริเวณใกล้เมืองท่าตอน (Thaton) ชาวมอญได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธผ่านทางอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ซึ่งเชื่อว่ามาจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช บันทึกของชาวมอญส่วนใหญ่ถูกทำลายในระหว่างสงคราม วัฒนธรรมของชาวมอญเกิดขึ้นจากการผสมเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ากับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนกลายเป็นวัฒนธรรมลักษณะลูกผสม ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 ชาวมอญได้เข้าครอบครองและมีอิทธิพลในดินแดนตอนใต้ของพม่า

     อาณาจักรมอญ ในสมัยของพระเจ้าราชาธิราชนั้นหงสาวดีกลายเป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอล จากแม่น้ำอิรวดีขยายลงไปทางตะวันออกถึงแม่น้ำสาละวิน และเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่โต มีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งในหลายลุ่มน้ำ เช่น เมาะตะมะ สะโตง พะโค พะสิม อาณาจักรมอญยุคนี้เจริญสูงสุดในสมัยพระนางเชงสอบูและสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ หลังจากนั้นในสมัยพระเจ้าทากายุตปี หงสาวดีก็เสียแก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ในปี พ.ศ. 2094

     ยุคฟื้นฟูหรือยุคราชอาณาจักรหงสาวดีใหม่ พ.ศ. 2283 สมินธอพุทธิเกตุ กู้เอกราชคืนมาจากพม่าได้สำเร็จ และได้ยกทัพไปตีเมืองอังวะ ในปี พ.ศ. 2290 บินยาทะละได้ครองอำนาจแทนสมินธอพุทธิเกตุ และขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวาง ทำให้อาณาจักรตองอูของพม่าสลายตัวลง จนในปี พ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญา ก็กู้อิสรภาพของพม่ากลับคืนมา ทั้งยังได้โจมตีมอญ อันเป็นการสิ้นสุดเอกราชและอำนาจของชาวมอญในพม่าตอนล่าง  รวม ๆ แล้วอาณาจักรมอญเรืองอำนาจพันกว่าปีเลยทีเดียว(สนใจอ่านต่อที่ ไทยวิกิพีเดีย)



     สำหรับเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเมียนมาร์ ที่ได้จากการฟังไกด์ นำเที่ยว อาทิ
  • ที่เมียนมาร์ สี่ทุ่มปิดไฟนอน เพราะเคยชินกับระบบทหารปกครองที่ใช้กฎอัยการศึก สี่ทุ่มห้ามออกจากบ้าน  คนเมียนมาร์ก็เลยไม่มีสีสันยามราตรีให้เที่ยวชม  และจะค่อนข้างอันตรายหากออกมาเดินเที่ยวตอนกลางคืน
  • คนทั่วไป รวมถึงนักเรียน จะมีตะกร้าใบหนึ่งไว้ใส่ปิ่นโตและกระติกน้ำ สำหรับมื้อกลางวันที่เตรียมมาจากบ้าน  เพราะการซื้ออาหารทานแม้ร้านข้างทางก็จะแพงประมาณ 40 - 50 บาทเลยทีเดียว
  • ค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 150 บาทต่อวัน
  • ไกด์บ่นว่าการท่องเที่ยว และประเทศไม่พัฒนามานาน เพราะยุคทหารปกครอง ก็เอาพวกทหารที่เกษียณมาเป็นรัฐมนตรี  ไม่ได้มีความรู้อะไร (อืม...คุ้น ๆ นะ)
  • แป้งทานาคา เป็นที่นิยมสุด ๆ ใช้ทาหน้าได้ทั้งชายหญิง  โดยนำกิ่งไม้จากต้นทานาคา มาขูดกับกระดานขูดทรงกลม พรมน้ำนิดหน่อย ก็จะได้ทานาคาที่ใช้ทาหน้าได้เลย  หรือถ้ามีเงินหน่อยจะใช้เป็นกระปุกสำเร็จรูปก็ได้  สรรพคุณมากมาย ลดสิวฝ้า ป้องกันแดด ทำให้หน้าเนียน ฯลฯ
  • เมียนมาร์ มีความหลังกับอังกฤษมากมาย ทำสงครามกันหลายครั้ง จนตกเป็นเมืองขึ้น  แต่กับพี่ไทย ดูเหมือนประวัติศาสตร์การรบพุ่งกับอโยธยาไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่
  • สิ่งตกค้างสมัยอังกฤษปกครอง ก็มีให้เห็นทั่วไป  เช่น อาคารที่ทำการใหญ่ ๆ , รถไฟ , สะพานข้ามแม่น้ำ ฯลฯ
  • แท็กซี่ปกติจะไม่เปิดแอร์กัน  ถ้าจะเปิดแอร์ต้องเพิ่มราคา / รถไฟคนไม่ค่อยอยากใช้ เพราะเก่า มีหมัด และสกปรก
  • เมียนมาร์ ได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย มาหลายอย่าง เช่น การกินหมาก ที่เป็นที่นิยมมาก ๆ มีขายริมถนนเกือบทุกที่ หาได้ไม่ยาก พื้นถนนก็จะเห็นร่องรอยการบ้วนน้ำหมากเกลื่อนเลย  นอกจากนี้ยังได้รับวัฒนธรรมการ ดื่มชา มาจากการเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ อีกด้วย  ร้านชา ก็มีมากพอ ๆ กับร้านขายหมากเลยครับ  เป็นชาแบบใส่นม น้ำตาล  จะมีขายเป็นซอง ๆ แบบ 3 in 1 มีหลายยี่ห้อมาก
  • ประชาชนยังบ่นเรื่องการทำงานของข้าราชการ กว่าจะเริ่มทำงานก็สาย ยังมี Tea Break อีก  เดี๋ยวก็พักเที่ยง  กว่าจะเข้างานก็จะใกล้เวลา Tea Break ช่วงบ่ายอีก  พักดื่มชาเสร็จ ก็เตรียมเลิกงานกลับบ้าน  เหมือนข้าราชการไทยสมัยก่อนเลย 555
  • คนที่ขี่ จยย. ถ้าเป็นของญี่ปุ่น อย่างพวก ฮอนด้า ซูซูกิ ถือว่ามีระดับ  ที่เหลือจะขี่รถ จยย. จากประเทศจีน
  • ความที่ติดอินเดีย เมียนมาร์ เลยได้รับการเผยแผ่ศาสนาพุทธมาอย่างเข้มข้น  วัด และพระสงฆ์จะพบเห็นได้ทั่วไป  เจดีย์ ที่นี่จะเป็นทรงนิยม ลักษณะคล้าย ๆ กันหมด เหมือนชเวดากองย่อส่วน
  • ชายเมียนมาร์ส่วนมากนิยมนุ่งโสร่ง  กินหมาก  ก็เป็นเอกลักษณ์ดี  แต่เด็กรุ่นใหม่ ๆ ก็หันมาใส่กางเกง กันมากขึ้น
ตอนหน้าจะพาไปไหว้พระหลาย ๆ ที่นะครับ

อ่านเรื่องราวการท่องเที่ยวพม่า 

by Traveler (^_^)

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)